ข่าวประชาสัมพันธ์

พ.ร.บ. คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 (PDPA)

หนึ่งในปัญหาสำคัญที่นำไปสู่การออกกฎหมาย PDPA คือ การที่ข้อมูลส่วนบุคคลรั่วไหลสู่สาธารณะ โดยเฉพาะในปัจจุบันที่ข้อมูลต่างๆ ถูกแปลงให้อยู่ในรูปดิจิทัลมากขึ้น ซึ่งข้อมูลส่วนบุคคลสามารถหลุดออกไปได้หลากหลายช่องทางโดยบางครั้งเจ้าของข้อมูลก็ไม่รู้ตัว เช่น การโพสต์ข้อมูลส่วนบุคคลลงสื่อสังคมออนไลน์ การใช้บริการแอปพลิเคชันต่างๆ แล้วกดตกลงให้ความยินยอมในการให้ข้อมูลเองโดยไม่อ่านรายละเอียด การโดนแฮ็กหรือเจาะขโมยข้อมูล การถูกหลอกลวงด้วยวิธีต่างๆ เช่น Phishing เป็นต้น
การรั่วไหลหรือขโมยข้อมูลส่วนบุคคลอาจนำไปสู่ความเสียหายดังต่อไปนี้
• ถูกนำไปใช้ในทางผิดกฎหมาย เช่น เลขบัตรประชาชนถูกนำไปใช้เปิดบัญชีเพื่อฉ้อโกงผู้อื่น คลิปส่วนตัวถูกข่มขู่แบล็กเมล เป็นต้น
• โดนจารกรรมทางการเงิน ไม่ว่าจะเป็นการใช้หมายเลขบัตรเครดิตไปซื้อสินค้า หรือโอนเงินจากบัญชีธนาคาร
• ถูกนำไปทำการตลาดต่อ ส่งผลให้เจ้าของข้อมูลถูกรบกวนด้วยโฆษณา ขายสินค้าและบริการต่างๆ
• ถูกปลอมแปลงตัวตน แล้วเอาไปแอบอ้างทำเรื่องเสียหายหรือผิดกฎหมาย

เพื่อคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลของประชาชนไทย ไม่ว่าจะเป็น ชื่อ ที่อยู่ เบอร์โทรศัพท์ บัญชีธนาคาร อีเมล ไอดีไลน์ บัญชีผู้ใช้ของเว็บไซต์ ลายนิ้วมือ ประวัติสุขภาพ รวมไปถึงข้อมูลอื่นๆ ที่สามารถระบุถึงตัวเจ้าของข้อมูลนั้นได้ ทั้งในรูปแบบเอกสาร กระดาษ หนังสือ หรืออิเล็กทรอนิกส์ กฎหมาย PDPA จึงถูกพัฒนาและเตรียมบังคับใช้งานอย่างเต็มรูปแบบในวันที่ 1 มิถุนายน 2022 นี้
หลักสำคัญของกฎหมาย PDPA สามารถสรุปได้เป็น 6 ประเด็น ดังนี้
1. เจ้าของข้อมูลมีสิทธิ์ลบ เพิ่ม ห้าม แก้ไข และเข้าถึงข้อมูลส่วนบุคคลของตัวเองได้
2. ต้องให้ความสะดวกในการขอเพิกถอนสิทธิ เช่นเดียวกับตอนที่ขอข้อมูลมาจากเจ้าของข้อมูลในตอนแรก
3. เก็บข้อมูลส่วนบุคคลเท่าที่จำเป็น ตามวัตถุประสงค์ในการขอข้อมูลมา
4. เมื่อพบข้อมูลรั่วไหล ต้องแจ้งเจ้าของข้อมูลและผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหมดภายใน 72 ชั่วโมง
5. ต้องมีผู้ดูแล รับผิดชอบ และควบคุมข้อมูลส่วนบุคคล
6. โทษปรับสูงสุดไม่เกิน 5,000,000 บาท โดยอาจมีความผิดทั้งทางอาญาและทางแพ่ง ไม่ว่าจะเป็น Data Controllers หรือ Data Processors


8 ขั้นตอนการเตรียมความพร้อมขององค์กรก่อน PDPA ประกาศใช้ มีคำแนะนำสำหรับการเตรียมความพร้อมขององค์กรในภาพใหญ่ 8 ข้อ ดังนี้
1. ทำความเข้าใจว่ากฎหมาย PDPA คืออะไร
2. ตั้งงบประมาณ
3. แต่งตั้งทีมรับผิดชอบ
4. กำหนดประเภทข้อมูลและวัตถุประสงค์
5. เตรียมข้อกำหนด แนวทางปฏิบัติในการปกป้องข้อมูลตามที่กฎหมายกำหนด
6. สร้างความตระหนักรู้ให้กับเจ้าของข้อมูลและประชาสัมพันธ์ให้กับบุคลากรที่เกี่ยวข้อง
7. พัฒนาทักษะและกระบวนการตรวจสอบ
8. ปรับปรุงกระบวนการและออกแบบให้เหมาะสมกับการคุ้มครองข้อมูงส่วนบุคคลอยู่เสมอ


สำหรับขั้นตอนในการรับมือกฎหมาย PDPA โดยละเอียดได้แบ่งออกเป็น 5 ขั้นตอน คือ
1. Data Discovery ค้นหาและตรวจสอบข้อมูลส่วนบุคคล
2. Privacy Policy กำหนดการใช้หรือการประมวลผลข้อมูลส่วนบุคคล
3. Security Measurement วางมาตรการด้านความมั่นคงปลอดภัยสำหรับปกป้องข้อมูลส่วนบุคคล
4. Data Transfer วางระบบการบริหารจัดการ การส่ง หรือเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคล
5. DPO แต่งตั้งผู้กำกับดูแลข้อมูลส่วนบุคคล

พระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562